Sunday, May 07, 2006

บันทึก"การไปเยือน เพื่อนๆ ตัวน้อย"



น้ำใจ(ยังอยู่)สู้ภัยสึนามิ...ผจญภัยไปบ้านน้ำเค็ม ภาค1

เมื่อตุลาที่ผ่านมา เป็นวันหยุดครึ่งเทอมของลิซซี่น้อย ครั้งนี้เราสองคนแม่ลูกมีภาระกิจที่สำคัญซึ่งได้การรับมอบหมายมาจาก โรงเรียนMilverton ให้นำเงินและสิ่งของไปให้เด็กกำพร้าที่เขาหลัก จุดหมายปลายทางที่ต้องไปคือบ้านน้ำเค็ม เนื่องจากเราจะทำการช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่โรงเรียนบ้านน้ำเค็มก่อน ส่วนของและหนังสือเราจะบริจาคให้ทุกโรงเรียนที่ได้ผลกระทบจากภัยสึนามิ โดยทางโรงเรียนบ้านน้ำเค็มจะเป็นผู้ประสานจัดสรร และส่งต่อหนังสือกับข้าวของต่างๆ ให้โรงเรียนอื่นต่อไป

ดังนั้นเราสองคนแม่ลูกจึงอยู่กรุงเทพได้ไม่กี่วัน ก็มีอันต้องจรลีซะแล้ว นั่งจัดกระเป๋าไปก็บ่นไป ว่าทำไมของตูมันเยอะขนาดนี้เนี่ย คุณยายลิซซี่บอกว่า ก็ขนเข้าไปซิ พวกปลากระป๋อง น้ำพริก ยังกับกลัวว่าจะเกิดสงครามโลกอย่างงั้นแหละ แหม ก็แค่จะเอาไปกินยามคิดถึงเมืองไทยแค่นั้นเอง

มีคนบอกว่าเป็นโรคจิตปลากระป๋อง อ้าว!ก็ปลากระป๋องมันเป็นอาหารที่ทำให้ลิซซี่กิน แล้วลิซซี่มักจะบอกว่า แม่ทำกับข้าวอร่อยที่สุดในโลก เฮ้อ อย่างไรเสียก็คงต้องตัดใจเอามันออกไปแล้วหล่ะ เพราะว่าทริปนี้ ต้องขนหนังสือบริจาคจากอังกฤษ พร้อมเสื้อชุดนักเรียน อภินัันทนาการจาก เพื่อนสาวนามว่าอ้าของเรานั่นเอง แถมของเล่นจากอังกฤษที่รับบริจาคมา รวมเข้าไปก็ 3-4 กระเป๋าใหญ่เป้งๆ แถมหนักอีกต่างหาก

ทริปนี้ถือเป็นการผจญภัยจริงๆ แต่เป็นการผจญภัยไปกับสัมภาระ คือต้องขนสัมภาระทั้งหมดขึ้นเครื่อง รวมถึงข้าวของส่วนตัวด้วย เพราะจะบินกลับกันไปเลย

ปล่อยให้คุณยายร่ำลา หลานรัก ส่วนดิฉันก็นั่งวางแผนการเดินทาง นั่งคิดไปคิดมาสรุปว่าต้องบินไปลงที่่ภูเก็ต จากนั้น.......ต้องหารถเช่าไปบ้านน้ำเค็ม จากนั้่น...... ต้องไปกระบี่ต่อเพื่อเจอกับพ่อลิซซี่ที่จะไปรออยู่ที่อ่าวนางกับฮอลิเดย์ส่วนตั๊วส่วนตัว แล้วก็จบทริป ปิดครึ่งเทอมของลิซซี่ อือ ฟังดูไม่หนักหนาสาหัสอะไร

แต่ไอ้ช่วงต่อระหว่างจากบ้านน้ำเค็มไปกระบี่เนี่ยสิ จะไปยังงัยดีหล่ะ จะเหมารถอีกรอบก็ไม่รู้จะแพงแค่ไหน จะพาลูกนั่งรถทัวร์ก็ต้อง 2ถึง 3 ต่อแน่ะ

จากบ้านน้ำเค็ม.........ไปตะกั่วป่า จากตะกั่วป่า.............ไปกระบี่ จากกระบี่.................ต้องเลือกเอาสองทางว่าจะต่อเรือ .................หรือต่อรถสองแถวไปอ่าวนาง

โฮ้ย คิดแล้วปวดหัวจัง เอาไว้ก่อนดีว่า เอาแค่ไปให้ถึง บ้านน้ำเค็มก่อนล่ะกัน ทำท่าจะบ่นกับแม่อีกนิดหน่อย แม่บอกว่า หยุดเลยแก จะไปทำบุญห้ามบ่น เีดี๋ยวบุญก็ตกใจวิ่งหายลงบันไดบ้านไปก็เท่านั้น (อันนี้เป็นความเชื่อแต่หนไหนกันล่ะเนี้ย หรือแม่ฉันคิดเอาเอง) แต่สุดท้ายแม่ก็ให้กำลังใจว่า เอาเถอะ แม่อวยพรให้เดินทางโดยปลอดภัยและราบรื่น แม่เชื่อว่าเราตั้งใจไปทำในสิ่งที่ดี รับรองเราคงไม่เจออุปสรรคอะไรมากมายหรอก โอเคเลยจ๊ะแม่ ขอเชื่อด้วยคน



น้ำใจ(ยังอยู่)สู้ภัยสึนามิ...ผจญภัยไปบ้านน้ำเค็ม ภาค2

ในที่สุดเช้าของวันศุกร์ที่14ตุลาคม2548 เราก็อยู่ไม่ห่างจากบ้านน้ำเค็มเท่าไหร่แล้ว แค่ 100 กิโลเมตรเอง แล้วงัยต่อล่ะเนี้ย หันซ้ายหันขวาหารถเช่าก็แทบจะยังไม่มีมาให้เลือกมากมายนัก เพราะยังเช้าอยู่ โชคดีที่พ่อลงมาทำธุระที่พังงาล่วงหน้าก่อนดิฉัน 1 วัน เช้านี้จึงมีหนุ่มใหญ่ใจดีมายืนเป็นเพื่อนพร้อมกระเป๋าใบใหญ่เท่าบ้าน อีก4 ใบ เด็กลูกครึ่ง อายุ 8ขวบ อีก 1 คน คุณตาลิซซี่เข้าไปเจรจาเจ้าแรก คนขับเ่ล่นขอ ตั้งสามพันเจ็ด เจ้าที่สอง หนักเข้าไปอีกบอกสี่พันถามพ่อว่า เขานึกว่าเราเหมาไปอังกฤษหรือป่าว พ่อบอกเงียบๆ อย่าพูดมากเดี๋ยวโดนยิงตาย อ้าว เป็นงั้นไป ว่าแล้วก็หลุดไปหมด รอต่ออีกนิดนึง มีชายหนุ่มเข้ามาสอบถามอีกว่าจะไปรถทัวร์ลงตะกั่วป่าแล้วต่อไปบ้านน้ำเค็มเอามั้ย เขาขายตั๋วอยู่ เราก็อยากนะ ถ้าไม่มีลิซซี่มาด้วย ตอนนี้ลิซซี่เริ่มเฉาแล้ว อีกไม่นานก็จะเหี่ยว ลงไปกองกับพื้่นแหง๋ๆ

พ่อเดินหายไปถามอีก 2-3 คนก็ยังแพงอยู่ งงเจรงๆ เอ๊ะ หรือดิฉันหน้าตาเหมือนปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ฺ เลยโก่งราคากันใหญ่เชียว (ล้อเล่นน่ะถึงเราจะไม่สวยเหมือนปุ๋ย แต่เราก็รักเด็กเหมียนกัลล์นะ ฮ้าาาา) ในที่สุัดฟ้าก็ส่งคนดีมาให้พวกเรา พ่อหนุ่ม หน้าตาท่าทางเหมือนพี่แอ๊ด คาราบาวเหลือหลาย เดินคุยมากับพ่อดิฉันประมาณว่าน่าจะตกลงราคากันด้วยดี ไม่มีนองเลือด น้องหน้าโหดแต่ใจดีบอกว่า เค้ามาจากสุราษฎร์ เห็นว่าพวกเราจะไปทำบุญที่บ้านน้ำเค็ม เลยขอเสนอตัวช่วยเหลือน้องเค้าบอกว่า เค้าเคยไปช่วยหาศพผู้ประสบภัยอยู่หลายวันและยังไม่มีโอกาสกลับไปเยี่ยมผู้คนที่นั่นเลยเห็นจะเป็นบุพเพสันนิวาสของพวกเรากับน้องเค้าซะแล้วน้องเค้าบอกว่า ขอค่าน้ำมัน และค่าสึกหรอ รถ แค่2000 บาท โดยจะขับไปให้ถึงโรงเรียนบ้านน้ำเค็ม แถมจะรอจนเราเสร็จธุระ จะเป็นกี่โมงก็ไม่เกี่ยง แล้วจะขับไปส่งให้ที่กระบี่ถึงโรงแรม อ่าวนาง วิลล่า เลยทีเดียว

โอ้ แม่เจ้าปวารตี ช่างดีเสียนี่กระไร(ช่วยนึกภาพดิฉันยกมือยักคอ แบบหนังอินเดียเพื่อให้ได้อารมณ์ด้วยนะคะ) ทริปนี้ดูง่ายและสั้นลงในพริบตาเดียวหลังจากพ่อหนุ่มใต้ใจดี ปรากฎกายขึ้น ดิฉันนึกขึ้นได้เรื่องแม่อวยพรมาให้ จึงบอกน้องเค้าไปว่า พวกเรามาทำบุญเลยโชคดีได้เจอน้องเค้าซึ่งเป็นคนดีมากๆ เราดีใจที่ได้รู้จักกัน.....................ขอให้ได้บุญร่วมกันนะพ่อหนุ่ม บันทึกหน้ามารู้จักพ่อหนุ่มใจดีคนนี้กัน






คลื่นชีวิต ตอนที่1

ตอนเช้าประมาณเก้าโมงของวันที่14 ตุลาคม 2548 น้องอี๊ดก็ขับรถมาส่งพวกเราอย่างปลอดภัย ณ โรงเรียนบ้านน้ำเค็ม ระหว่างที่พวกเรานั่งรอคุณครูใหญ่อยู่ในอาคารห้องพักครู ดิฉันฝากลิซซี่ไว้กับคุณพ่อและเดินดูรอบๆ โรงเรียน ดิฉันออกไปยืนอยู่ข้างๆอาคารหลังเก่าที่โดนคลื่นซัดกระแทกจนเหลือให้เห็นแค่ร่องรอยความร้าวราน มองไปรอบๆ บริเวณที่เกิดเหตุ ดิฉันรู้สึกโหวงเหวงในหัวใจอย่างบอกไม่ถููก แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปแล้วเกือบครึ่งปี แต่ทำไมความรู้สึกมันยังเหมือนกับว่า ความเจ็บปวด ความร้าวราน ของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อเจ้าคลื่นร้ายนี้ยังคงอยู่ให้สัมผัสได้ด้วยหัวใจอย่างไม่น่าเชื่อ

เดินเลียบไปข้างตึกด้วยความสลด หดหู่ มองไปเห็นเด็กน้อยตัวจ้อยแต่งชุดนักเรียนนั่งพิงกำแพงอยู่อย่างเดียวดาย ไม่แน่ใจว่าคิดไปเองหรืออย่างไร ความเศร้า ความเหงา วิ่งเข้ามาจับเข้าที่ขั้วหัวใจ ภาวนาว่าขออย่าให้น้องคนนี้เป็นหนึ่งในเด็กกำพร้า ที่ดิฉันมีรายชื่ออยู่เลย เมื่อเดินเข้าไปพูดคุยกับน้อง หนุ่มน้อยบอกว่ามานั่งรอเข้าห้องประชุม น้องไม่ได้เป็นเด็กกำพร้าที่อยู่ในรายชื่อการรับบริจาค แต่น้องเล่าว่าเสียคุณแม่ไปและคุณพ่อติดคุกตลอดชีวิต ดิฉันนั่งลงข้างๆ น้อง เงียบอึ้งไปชั่วขณะหนึ่ง ความคิดว้าวุ่นเกิดขึ้นในใจ “ยังมีเด็กอีกมากมายที่ต้องการความช่วยเหลือ มิใช่เพียงแค่ความเป็นอยู่ จิตใจพวกเขาด้วยต่างหากที่ต้องช่วยกันเยียวยา”

แต่ลำพังพวกเราตัวเล็กๆ ก็คงทำได้แค่แรงและกำลังที่เรามีอยู่กันเพียงเท่านี้ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ จับไหล่น้องบีบเบาๆ และบอกให้น้องเข้มแข็ง จากนั้นก็จดชื่อน้องไว้เพื่อนำไปขอเบอร์บัญชีธนาคารที่โรงเรียนจัดไว้ให้กับเด็กทุกคนในโรงเรียน ในใจก็คิดว่า เงินจำนวนที่นำมาจากอังกฤษคงต้องถูกหารเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน จากนั้นหนุ่มน้อยก็ลุกขึ้นชวนเดินไปดูบ้านพักอาศัยชั่วคราวหลังโรงเรียนที่น้องอยู่ เมื่อเดินมาถึงดิฉันก็ได้เห็นสิ่งที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้างหน้านั้น เป็นบ้านพักอาศัยชั่วคราวหลายสิบหลังสำหรับเด็กๆ และผู้ประสบภัยที่ไร้ที่อยู่อาศัย

มองดูเหมือนบ้านในจินตนาการตอนเด็กๆ จำได้ว่าเคยฝันอยากมีบ้านจำลองไว้เป็นของเล่นชิ้นโต แต่ทว่าในตอนนี้บ้านเหล่านี้คงเป็นได้มากกว่าของเล่นชิ้นโต และคงมีคุณค่ามากมายนักสำหรับคนหลายๆ คนที่ต้องอาศัยเป็นที่พักพิงแม้จะเป็นเพียงชั่วคราวก็ตาม ดิฉันเดินเลาะไปตามใต้ถุนบ้าน มีหลังหนึ่งเป็นเหมือนสำนักงานของมูลนิธิฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กจากภัยสึนามิ ซึ่งอยู่ในพระราชินูปถัมภ์ของพระราชินีจากประเทศสวีเดน

ขณะที่ดิฉันยืนอ่านป้ายรายละเอียดของมูลนิธิอยู่นั้น ก็มีเสียงอ่อนหวานไพเราะกล่าวสวัสดีอยู่ข้างหลังและถามไถ่ว่ามีอะไรให้ช่วยไหม ดิฉันหันไปเห็นสาวน้อยชาวฝรั่งสามคนส่งยิ้มให้จากแคร่ใต้ถุนบ้านพัก ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านหลังที่ดิฉันยืนอยู่ ดิฉันรีบกล่าวทักทายตอบ ทั้งสามเชิญดิฉันนั่งลงร่วมวงสนทนา สอบถามเธอทั้งสามได้ความว่า ทั้งสามเป็นพี่น้องกัน อายุอยู่ในวัย 14-18 ปี เป็นชาวอเมริกัน จากนิวยอร์ค เดินทางมากับคุณพ่อ มิสเตอร์เดวิด จอห์นสัน และคุณแม่ มิสซิสทาเบีย จอห์นสัน เมื่อต้นปีหลังเกิดสึนามิได้ไม่นานนัก

ทั้งครอบครัวเป็นอาสาสมัครมาช่วยสอนภาษาอังกฤษเด็กๆ ที่โรงเรียนบ้านน้ำเค็ม และช่วยดูแลเรื่องฟื้นฟูจิตใจเด็กๆ กำพร้าที่นี่ด้วย หลังจากนั้นน้องๆฝรั่งทั้งสามคนก็ชวนดิฉันไปพบคุณพ่อคุณแม่ของพวกเธอ ดิฉันเดินแวะมารับลิซซี่ และคุณพ่อไปห้องประชุมด้วยกัน ส่วนน้องอี๊ดนั้นช่วยหอบข้าวของที่นำมาบริจาคไปไว้ที่ห้องประชุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคุณพ่อดิฉันก็ได้ให้เงินน้องไปทานข้าวเช้าก่อน เนื่องจากพวกเราคงต้องใช้เวลาพอสมควร ดิฉันได้พบกับมิสเตอร์เดวิดและภรรยา คุณพ่อคุณแม่ของสาวน้อยสามใบเถาชาวอเมริกันพร้อมกับคุณครูใหญ่ อาจารย์ ทวิช จิตรสาน พวกเราได้พูดคุยกันอยู่พอสมควร

ดิฉันได้ทราบว่าหลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ คุณครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนทุกคนนั้นก็ต้องทำงานหนักกันมากขึ้นหลายเท่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาบริจาค และหรือ ต้องคอยจัดสรร ความจำเป็นต่างๆ ให้กับนักเรียนรวมไปถึงผู้ปกครองที่ประสบภัยหลายๆ คนในท้องที่ เพื่อให้เกิดความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ซึ่งดิฉันเองก็พอจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากเอาการอยู่ ปัญหาที่เกิดในการทำงานนั้นย่อมมีอยู่อย่างแน่นอน ต่างคนก็ต่างความคิด หากจะต้องมานั่งบรรยายหรือวิเคราะห์เรื่องราวเหล่านี้ ดิฉันว่าก็คงจะได้นิยายน้ำเน่าที่เราๆ ก็คงรู้ๆ กันอยู่กับระบบราชการหรือการทำงานของรัฐบาลไทยขึ้นมาอีกเล่มอย่างแน่นอน

เอาเป็นว่า ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่มีความตั้งใจ และความจริงใจที่จะทำงานให้เกิดประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่แล้วกันค่ะ



คลื่นชีวิต ตอนที่ 2

ณ ห้องประชุมอาคารที่สร้างใหม่

นักเรียนเดินเรียงแถวกันอย่างน่ารักน่าเอ็นดููผ่านหน้าดิฉัน เข้าไปนั่งกับพื้น หนููน้อยที่นั่งลงแล้วหลายคนแอบชำเลืองมองลิซซี่ แล้วเขินอายเล็กน้อย จนดิฉันต้องบอกให้ลิซซี่ส่งยิ้มให้น้องๆ เพื่อนๆ

ทุกแววตาของเด็กน้อยเหล่านั้นช่างแสนบริสุทธิ์ หลายคนมีแววเศร้าฉายออกมา เพราะพวกเขาต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าจากภัยสึนามิ ดิฉันเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า การจัดพิธีการรับมอบเงินนี้ จะเป็นการไปตอกย้ำเด็กๆ และกระตุ้นเตือนความเจ็บปวดให้พวกเขาหรือเปล่า ด้วยความตั้งใจครั้งแรกที่จะมาบ้านน้ำเค็ม ก็เพียงเพื่อจะพบคุณครููใหญ่และนำมอบเงินให้ท่าน ผ่านทางบัญชีธนาคารของเด็กๆ เท่านั้น ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีพิธีรีตองมากมายขนาดนี้ เดวิด จอห์นสัน พร้อมลููกๆ ทั้งสามคนยืนอยู่ข้างดิฉัน ดููเหมือนพวกเขาจะรู้ว่า ดิฉันครุ่นคิดเรื่องบางเรื่องอยู่ เมื่อเดวิดถามดิฉันว่า ดิฉันโอเคหรือเปล่า ดิฉันก็เลยบอกถึงความรู้สึกกังวลว่าการทำพิธีการแบบนี้จะเป็นการดีหรือไม่ เพราะเป็นห่วงจิตใจเด็กๆ แต่เดวิดบอกว่า ทางโรงเรียนก็จัดต้อนรับหลายๆ หน่วยงานมาตลอด เท่าที่เขาสังเกต พบว่าเด็กๆ ก็รู้สึกอบอุ่นที่มีคนมาหา มาเยี่ยม และบอกให้ดิฉันอย่าคิดมากไป

ก่อนเริ่มพิธีการรับมอบเงินบริจาคและสิ่งของจากโรงเรียนMilverton ประเทศอังกฤษ คุณครูก็ได้ให้โอวาทเด็กๆ และแจ้งเรื่องการมาบริจาคของพวกเรา ดิฉันส่งลิซซี่เป็นตัวแทนมอบเงินให้กับนักเรียนกำพร้าพร้อมด้วยหนังสือและ สิ่งของต่างๆ ให้กับทางโรงเรียน

ระหว่างพิธีการนั้น ตัวดิฉันยืนอยู่ข้างๆ ห้องประชุมกับมิสเตอร์เดวิด เราสองคนพูดคุยกันเบาๆ เรื่องความด้อยโอกาสของเด็กๆที่นี่ มิสเตอร์เดวิดบอกว่าดีใจมากที่ โรงเรียนMilverton ส่งหนังสือดีๆ มาให้มากมายนัก และมันก็ทำให้ดิฉันรู้สึกดีมากๆ ว่า หนังสือเหล่านั้นจะเพิ่มคุณค่าในตัวมันเองมากขึ้นเป็นหลายเท่านัก เพราะครอบครัวจอห์นสันจะได้ใช้หนังสือเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์กับเด็กๆ อย่างสูงสุด

ขอแสดงความนับถือน้ำใจของครอบครัวนี้มากมายนักที่เสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ มาสอนภาษาอังกฤษและให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ในด้านการฟื้นฟูจิตใจด้วย

เมื่อเสร็จพิธี คุณครูเชิญพวกเราร่วมรับประทานอาหารกับเด็กๆ ที่โรงอาหาร ซึ่งวันนี้มีเมนูพิเศษที่เด็กๆ อยากทานและทางโรงเรียนไม่สามารถจัดหาให้เด็กๆได้เนื่องจากงบประมาณอาหารกลางวันไม่เพียงพอ

อยากทราบไหมคะว่าเมนูนั้นคืออะไร…….ขนมจีน แกงไก่ น้ำพริก น้ำยากระทิ และน้ำยาป่า พร้อมกับผักกระจาดใหญ่ค่ะ คุณครูฝ่ายโภชนาการถือโอกาส แถมผัดกระเพราและไข่เจียวให้เด็กๆ ด้วย ดิฉันรับจานอาหารที่คุณครูผู้มีน้ำใจส่งให้แล้วมองดูอยู่พักนึง นั่งคิดถึงคำพูดคุณครูว่า อาหารเหล่านี้เป็นอาหารแสนพิเศษที่เด็กๆ ดีใจว่าจะได้ทาน นานๆ ครั้ง นี่มันอะไรกัน เด็กบางคนแทบจะไม่แตะอาหารเหล่านี้เลย เพราะเห็นเป็นของธรรมดาสำหรับพวกเขา ยิ่งเด็กกรุงเทพฯ ที่คุณพ่อคุณแม่มีสตางค์หน่อย ยิ่งไม่ต้องพูดถึง อาหารพิเศษของพวกเขา นู้นเลยค่ะ อยู่ตามฟาสต์ฟู้ดชื่อดังมากมาย บางคนทานทิ้งทานขว้าง พวกเขาจะนึกบ้างหรือเปล่าว่ามีเด็กอีกหลายคน ไม่มีโอกาสแม้แต่จะลิ้มรสอาหารที่พวกเข้าทานเหลือ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งของความด้อยโอกาสในสังคมไทย

ดิฉันได้แต่หวังว่าลิซซี่คงเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น หลังจากที่ดิฉันอธิบายความแตกต่างของโอกาสทางสังคมให้ลูกฟัง โดยยกตัวอย่างแค่เรื่องอาหาร การกินนี่แหละค่ะ ง่ายดี จนลิซซี่บอกว่าอยากให้พวกเขาได้ทานไอศครีมอร่อยๆ หรือพิซซ่าดีๆ บ้างจัง เมื่อทานอาหารเสร็จดิฉันก็เตรียมร่ำลา และกล่าวขอบคุณ คุณครูทุกๆ ท่านที่อำนวยความสะดวกให้พวกเราเป็นอย่างดี

และเมื่อเดินออกมาจะขึ้นรถ มีคุณแม่สองสามคนอุ้มลูกเล็กเดินเข้ามาหาดิฉัน แล้วบอกว่าขอทุนการศึกษาให้ลูกตนเองบ้าง ดิฉันหยุดคุยด้วยพักนึง ทุกคนนั่งปรับทุกข์กับดิฉันต่างๆ นานา สิ่งที่รับรู้ในเวลานั้น นั่นก็คือชีวิตที่แร้นแค้น ตั้งแต่ครั้งยังไม่เกิดภัยพิบัติ แม่บางคนบอกว่าก่อนเกิดภัยพิบัติ ลูกๆ ตนเองที่อยู่โรงเรียนนี้ก็แทบจะไม่เคยได้ทานอาหารเช้าออกจากบ้านกันเลย มาขออาศัยอาหารเที่ยงทางโรงเรียนซึ่งก็มีงบประมาณไม่ได้เยอะอะไร พอได้กินอยู่รอดไปวันๆ ถ้าจะพูดถึงความยากจนก็คงบอกได้ว่าไม่ใช่แค่เฉพาะที่นี่เท่านั้น อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่าความแตกต่างระหว่างความรวยความจนในประเทศเรานั้นมีอยู่มากมายนัก

แต่ถ้าพวกเราหลับตานึกภาพผู้คนยากจน ชาวบ้านธรรมดาที่ต้องปากกัดตีนถีบอยู่แล้ว และต้องมาเจอโชคชะตาเคราะห์กรรมที่หนักหนาสาหัสอย่างภัยสึนามิ สูญเสียคนที่รักคนที่เป็นเสาหลักของบ้าน หรือแม้แต่เด็กกำพร้าทั้งหลายซึ่งยังไม่รู้ว่าอนาคตพวกเขาจะเป็นอย่างไร ถ้าหากพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกต้องเหมาะสม พวกเขาจะเป็นอย่างไรกัน................................. ดิฉันเดินจากมาด้วยน้ำตาที่ไหลอยู่ในอก มันล้นอยู่ในใจ และบังคับไม่ให้มันไหลออกมาผ่านม่านตาตัวเอง เมื่อต้องเดินผ่านโรงอาหารที่มีเด็กๆ ทั้งหลายโบกมือ บ้าย บาย ลิซซี่ และหลายคนยกมือไหว้ร่ำลาดิฉัน

พวกเราส่งยิ้มและโบกมือตอบไปยังเด็กๆ ดิฉันนั่งมองจากหน้าต่างรถไปยังเด็กน้อยทั้งหลายซึ่งนั่งรับประทานอาหารพิเศษของพวกเขาอยู่อย่างมีความสุข อย่างน้อยก็อีกหนึ่งมื้อจากการมาเยี่ยมของแขกแปลกหน้า น้องอี๊ดขับรถออกมาเกือบพ้นประตูโรงเรียน จนดิฉันต้องเหลียวหลังเพื่อเก็บภาพเด็กๆในโรงอาหารไว้เป็นภาพสุดท้าย เมื่อหันกลับมา มองไปหน้าถนน ภาพนั้นพร่าเลือนด้วยหยดน้ำตา คุณพ่อและน้องอี๊ดสบตาดิฉันในกระจกด้านหน้ารถ ทุกคนดูเหมือนจะเข้าใจความรู้สึกของกันและกันได้จากความเงียบภายในรถ และเก็บมันไว้เป็นความสงบแห่งการเดินทางในเส้นทางใหม่.....หลังการจากลา


"ขอความเมตตาปราณีต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ยากไร้ และด้อยโอกาสกว่าเรา จงมีอยู่ในน้ำใจมนุษย์โลกทุกคนตลอดกาล""ไม่ว่าคุณจะท้อแท้ สิ้นหวัง ในเรื่องใด ขอกำลังใจจงอยู่คู่ทุกคนตลอดไปนะคะ"

0 Comments:

Post a Comment

<< Home